วันนี้ (5 ต.ค.2567) พลตรีธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย บางส่วนเข้าสู่การฟื้นฟู แต่บางพื้นที่ต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะที่ จ.เชียงใหม่ มีฝนตกหนักตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นและไหลเข้าสู่ลำน้ำสาขา ประกอบกับมวลน้ำใหม่ไหลไปสมทบกับมวลน้ำก้อนเดิม ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตเทศบาลนครเชียงใหม่และพื้นที่ลุ่มต่ำ

จากสถานการณ์ดังกล่าว นายภูมิธรรม เวชยชัย รอง นรม./รมว.กห. ในฐานะ ผอ.ศปช. ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบ รวมถึงสั่งการให้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อย่างเต็มขีดความสามารถ รวมถึงติดตามการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้ พร้อมกำชับให้เหล่าทัพระดมสรรพกำลัง ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การป้องกัน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูหลังอุทกภัย โดยได้มีการบูรณาการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย โดย สนภ.3 นทพ., กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3, กองทัพเรือ โดย นรข.เขตเชียงราย และกองทัพอากาศ โดย บน.41 และบน.46 ระดมกำลังพลรวมกว่า 30,000 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ของกองทัพ อาทิ รถยนต์บรรทุก-รถโดยสาร ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รถขุดตัก รถโกยตัก รถปั้นจั่น รถครัวสนาม รถสุขา กว่า 1,772 คัน เรือชนิดต่างๆ 134 ลำ ตลอดจนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สะพาน ชุดประปาสนาม เครื่องวัดความลึก เครื่องสูบน้ำ รวมกว่า 283 เครื่อง ซึ่งจากการนำยุทโธปกรณ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการช่วยเหลืออุทกภัยในครั้งนี้ถือเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

พร้อมกันนี้ รอง นรม./รมว.กห. ในฐานะ ผอ.ศปช. ได้เน้นย้ำให้ ศปช.ส่วนหน้า เร่งบูรณาการ ประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว โดยนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มท. ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า ได้อำนวยการและมอบหมายการแบ่งพื้นที่พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบให้มีความชัดเจน ขณะที่ รมช.กห. ในฐานะที่ปรึกษาฯ ได้ให้คำแนะนำในการจัดกำลังยุทโธปกรณ์ เครื่องจักรสนับสนุนภารกิจเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างประสานสอดคล้องและรวดเร็ว

โดยวานนี้ รมช.มท. และ รมช.กห. ได้ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลืออพยพเจ้าหน้าที่ และสัตว์ของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ไปยังที่พื้นที่ปลอดภัย ประกอบด้วย ช้าง 124 เชือก, แมว 1,600 ตัว และสุนัข 700 ตัว โค 90 ตัว กระบือ 100 ตัว โดยได้สั่งการให้หน่วย ร.17 พัน.2, บน.41 ร่วมกับ สบอ.16, บก.ตชด.ภาค3 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อบต.  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปศุสัตว์เชียงใหม่ และปภ.เชียงใหม่ จัดกำลังพลพร้อมรถบรรทุก เรือท้องแบน เข้าไปช่วยเหลือซึ่งขณะนี้สามารถเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่ รวมถึงสัตว์ในมูลนิธิ แมว สุนัข โค กระบือทั้งหมดไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้เรียบร้อยแล้ว โดยวันนี้คาดว่าจะสามารถทำการอพยพช้างที่เหลือไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ พร้อมกับได้เตรียมการขนส่งอาหาร เวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือช้างและสัตว์เล็กในพื้นที่แล้ว

ใส่ความเห็น

You missed

ครั้งแรกในไทย! จูนเหยา เปิดตัว “JY AIR” ยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผสมผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะและความยั่งยืน