สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นสะพานที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ประมาณ 61,700 คน รวมทั้งกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า และอินเดีย อีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ผลของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง

สะพานข้ามแม่น้ำแควใช้เวลาสร้างประมาณ 3 – 4 เดือน โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและโครงสะพานเป็นไม้ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 ได้ถูกทิ้งระเบิดหลายครั้งจนสะพานหักท่อนกลาง ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ด้วยเหล็กรูปเหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2489 จนสามารถใช้งานได้

ปัจจุบันสะพานข้ามแม่น้ำแคว ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการยกย่องให้เป็น “สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ”

 เนื้อเริ่องเกี่ยวกับสะพานแห่งนี้ ได้มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเช่น เดอะบริดจ์ออนเดอะริเวอร์แคว (พ.ศ. 2500) ซึ่งสร้างมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน และภาพยนตร์เรื่อง “The Railway Man แค้นสะพานข้ามแม่น้ำแคว” (พ.ศ. 2556) ซึ่งสร้างมาจากชีวประวัติของเชลยศึก ผู้ร่วมสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว

ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นงานประจำปี ระหว่างวันที่ 26 พ.ย. – 5 ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งมีการแสดงสีเสียง ย้อนรำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

ใส่ความเห็น

You missed

ครั้งแรกในไทย! จูนเหยา เปิดตัว “JY AIR” ยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผสมผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะและความยั่งยืน