เมื่อปี 2310 ย้อนรอย ประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา เสียกรุงฯแก่พม่า ครั้งที่ 2 นั้นจึงเกิดชุมนุมตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นเป็น 5 ก๊ก คือ

1: ชุมนุมพระยาตาก (ได้รวบก๊กต่างๆและกู้เอกราชประเทศไทยได้สำเร็จ)

2: ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

3: ชุมนุมเจ้าพิมาย

4: ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

5: ชุมนุมเจ้าพระฝาง  (เป็นพระสงฆ์ อยู่ในเมืองฝางสวางคบุรี หรือ อำเภอเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน)

แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานชื่อ”วัดพระฝาง” หรือชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านฝาง หมู่ที่ 3 ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ. 1700 (เกิดก่อนยุคสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) วัดพระฝาง นับว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานของศูนย์กลางเมืองฝางสวางคบุรี เพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลือหลักฐานอยู่ วัดนี้เป็นศูนย์กลาง”วัดพระมหาธาตุ” ประจำเมืองเก่าสวางคบุรี ในอดีต และได้รับการเปรียบเทียบความสำคัญเท่ากับ พระธาตุเจดีย์หริภุญชัย@ลำพูน และ พระพุทธบาท@สระบุรี นอกจากนี้ #วัดพระฝาง ยังเคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ผู้นำชุมนุมเจ้าพระฝางในคราวเสียสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อีกด้วย

วัดพระฝาง ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดคือ พระธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่กลางกลุ่มโบราณสถานวัดพระฝาง สันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในสมัยกรุงศรีอยุธยา มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านว่า พระมหาธาตุองค์นี้ได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นพุทธปูชนียสถานสำคัญของอาณาจักรคู่กับรอยพระพุทธบาทสระบุรี

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทำศึกชนะชุมชนเจ้าพระฝาง โดยพระยาพิชัยดาบหัก และต่อมาได้สมโภชพระมหาธาตุเมืองพระฝาง เป็นประเพณี 3 วัน 3 คืน คล้ายงานนมัสการพระพุทธชินราช แต่ความศรัทธาใน พระมหาธาตุเมืองฝาง ได้เสื่อมถอยลงในช่วงหลัง จากความเสื่อมอำนาจของเมืองสวางคบุรี หลังชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตกในสมัยธนบุรี จนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์ประธานองค์เดิมได้ปรักหักพังไปมาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะพระมหาธาตุเมืองพระฝางใหม่ แปลงเป็นแบบเจดีย์ทรงลังกาดังที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ วัดพระฝางยังมีอุโบสถมหาอุด (มีประตูทางเข้าบานเดียว) อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน ตัวอุโบสถ มีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเดิมภายในอุโบสถเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งปัจจุบันตัวอุโบสถยังคงมีบานประตูไม้และหน้าบันแกะสลักศิลปะสมัยอยุธยา อันสวยงามอยู่ (บานปัจจุบันเป็นบานจำลอง) และด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานมีพระวิหารหลวง เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเชียงแสน ปัจจุบันในพระวิหารหลวงมีบานประตูไม้แกะสลักวัดพระฝาง (เป็นบานประตูบานจำลอง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2551 เพื่อนำมาติดตั้งแทนที่บานประตูเดิมที่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดธรรมาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494)

ใส่ความเห็น

You missed

ครั้งแรกในไทย! จูนเหยา เปิดตัว “JY AIR” ยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผสมผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะและความยั่งยืน